Latest Post

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) การรักษาโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงิน โรคเกล็ดเงิน โรคเรื้อนกวาง หรือโซริอาซิส (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อและไม่ใช่โรคติดต่อ รอยโรคมีลักษณะขึ้นเป็นผื่นหรือปื้นและมีเกล็ดสีเงินปกคลุม สามารถพบเกิดกับผิวหนังได้ทุกส่วน แต่ที่พบได้บ่อยคือ ผิวหนังส่วนข้อศอกและเข่าด้านนอก ผิวหนังส่วนด้านหลัง หลังมือ หลังเท้า หนังศีรษะ และใบหน้า ผู้ป่วยมักมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ นานแรมปีหรือตลอดชีวิต ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

โรคสะเก็ดเงินจัดเป็นโรคผิวหนังที่พบได้เรื่อย ๆ แต่ไม่ถึงกับบ่อยมาก (ประมาณ 1-3% ของคนทั่วไป) สามารถพบได้ในคนทุกวัยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่พบได้มากในผู้ใหญ่ เพราะปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคในเด็กยังมีไม่มาก เช่น ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โอกาสที่พบในผู้หญิงและในผู้ชายมีใกล้เคียงกัน ผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการครั้งแรกในช่วงอายุ 10-40 ปี ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 พบว่ามีประวัติโรคนี้ในครอบครัว และอาการมักจะกำเริบเมื่อมีปัจจัยมากระตุ้น (ที่พบบ่อยคือ ความเครียด)

ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินเพราะมีความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นพื้นฐานแล้วมีสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการและอาการแสดงทางผิวหนัง เล็บ และข้อร่วมด้วย แต่ความผิดปกติทางพันธุกรรมไม่จำเป็นที่บิดา มารดา หรือญาติพี่น้องจะต้องเป็นโรคนี้กันทุกคน เพียงแต่ว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมที่จะเป็นโรคนี้อยู่

วิธีป้องกัน โรคสะเก็ดเงิน

เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีป้องกัน แต่ที่พอทำได้คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่พอเลี่ยงได้ (เช่น ภาวะความเครียด ความอ้วน) และรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน

หากสงสัยว่าเป็นโรคสะเก็ดเงินควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์จะให้การรักษาไปตามชนิดและความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงิน ตามแนวทางดังต่อไปนี้

  1. เมื่อเกิดผื่น ทั้งผื่นคันหรือผื่นไม่คัน ที่อาการไม่ดีขึ้นหรืออาการเลวร้ายลงภายหลังจากดูแลตนเองภายใน 1 สัปดาห์ หรือมีสิ่งผิดปกติต่าง ๆ เช่น แผลเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ เกิดซ้ำในที่เดียวกันตลอด หรือผิวหนังมีก้อนเนื้อ ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 1 สัปดาห์หลังพบความผิดปกติ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคว่าไม่ใช่เกิดจากโรคมะเร็ง
  2. สำหรับรอยโรคที่ผิวหนัง ในรายที่เป็นน้อย (มีผื่นน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย โดยผื่นขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือจะเท่ากับพื้นที่ประมาณ 1%) มีรอยโรคเพียงไม่กี่แห่ง แพทย์จะให้ทาครีมสเตียรอยด์ เช่น ครีมไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์ (Triamcinolone acetonide) หรือขี้ผึ้งน้ำมันดินหรือโคลทาร์ (Coal tar) ชนิด 1-5% หรืออาจใช้ทั้ง 2 สลับกัน เพื่อป้องกันการดื้อยา
  3. สำหรับรอยโรคที่หนังศีรษะ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยสระผมด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน เช่น ทาร์แชมพู สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ส่วนในรายที่มีขุยที่หนังศีรษะมาก แพทย์อาจให้โลชั่นที่เข้าสเตียรอยด์ (Steroid scalp lotion) ไปทาวันละ 1-2 ครั้ง
  4. สำหรับอาการข้ออักเสบ แพทย์จะให้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ
  5. ในรายที่เป็นรุนแรง หรือดื้อต่อการรักษา แพทย์อาจต้องใช้ยาชนิดกิน เช่น การให้กินยาโซลาเรน (Psoralen) ร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลตเอ การให้กินยากลุ่มเรตินอยด์ เมโทเทรกเซท (Methotrexate) หรือไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ที่เป็นยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ซึ่งวิธีการรักษาเหล่านี้ควรให้แพทย์โรคผิวหนังเป็นผู้ดูแลในการรักษาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีผลข้างเคียงและข้อควรระวังของยาแต่ละชนิดแตกต่างกันไป

เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ในปัจจุบัน และยังไม่มีการรักษาใดที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด หลักการรักษาโดยรวมจึงเป็นการรักษาแบบผสมผสานกันไป (Combination therapy) เพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้น สามารถลดขนาดของยาและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาได้ นอกจากนี้ การรักษาก็ไม่ควรใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ แต่ควรใช้วิธีหมุนเวียนการรักษา (Rotation therapy) เพื่อลดขนาดยาโดยรวม ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงของการรักษา และเพื่อให้โรคสงบได้นานขึ้น

You missed